วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

ขนมเต่าสีแดง (อ่างกู้)


1. ความหมาย และความสำคัญของขนมเต่า
ขนมเต่า หรือ อ่างกู้ มาจากภาษาจีน อ่าง หมายถึง แดง ส่วน กู้ หมายถึง เต่า แปลว่า เต่าสีแดง เป็นขนมพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนทางภาคใต้ ซึ่งไม่มีเนื้อเต่าเจือปนแม้แต่น้อย แต่ขนมเต่า หรืออ่างกู้นี้จะทำจากแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาลทราย ไม่มีไส้มีรสหวานจัด แล้วนำไปปั้นเป็นรูปเต่าขนาดต่างๆ จากนั้นจึงทาด้วยสีแดง ซึ่งมักพบเห็นในประเพณีที่เป็นมงคลต่างๆ ของชาวจีน โดยเฉพาะประเพณีผ้อต่อ (หรือวันสารทจีน เป็นเทศกาลงานบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ) ถือเป็นประเพณีหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ภูเก็ต ที่ได้นำขนมเต่ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบวงสรวง จนกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ของงานนี้ เพราะชาวจีนเหล่านี้มีความเชื่อว่า เต่า เป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ดังนั้นการทำพิธีต่างๆ จึงนิยมนำเต่ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีด้วย ซึ่งมีความนัยว่าจะทำให้ตนเอง และสมาชิกในครอบครัวจะมีอายุยืนเหมือนเต่านั่นเอง

2. ความเป็นมาของขนมเต่า (อ่างกู้)
สำหรับขนมเต่า หรือ อ่างกู้ มีประวัติความเป็นมาจากความเชื่อหนึ่งของชาวจีน โดยเรื่องย่อมีเนื้อความอยู่ว่า เมื่อครั้งที่พระภิกษุชาวจีนมีชื่อว่า อีจิง ได้ออกเดินทางจากประเทศจีนเพื่อไปศึกษาพระพุทธศาสนา ณ แคว้นลังกา ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น เพื่อที่จะกลับมาเผยแพร่ให้กับชาวพุทธในแผ่นดินที่ตนเกิดต่อไป
ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ พระภิกษุรูปนี้ได้แวะพักที่แหลมสุวรรณภูมิ หรือภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อรอคลื่นลมที่เหมาะสมในการเดินเรือไปยังแคว้นลังกา อีกทั้งยังได้ใช้เวลาทำการศึกษาภาษาสันสกฤต และวัฒนธรรมต่างๆ ของท้องถิ่นชาวสุวรรณภูมิอีกด้วย
เมื่อเวลาผ่านไปคลื่นลมได้สงบดีแล้ว เหมาะแก่การเดินทางต่อ พระภิกษุรูปนั้น พร้อมกับคณะจึงได้ออกเดินทางโดยเรือ เพื่อที่จะไปยังจุดหมาย ทันใดนั้นก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เกิดพายุโหมพัดรุนแรงจนทำให้เรือแตก และได้ลอยคออยู่กลางทะเล แต่ด้วยความที่มีใจหมายที่จะไปศึกษาพระธรรม ที่แคว้นลังกาให้ได้ ท่านอีจิงจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากตนมีบุญพอที่จะไปเล่าเรียนพระธรรม เพื่อที่จะสืบสานคำสอนของพระพุทธองค์แล้วไซร้ ก็ขอให้รอดพ้นจากความตายในครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้นได้มีเต่าตัวใหญ่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วช้อนเอาร่างท่านอีจิงว่ายกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย
หลังจากที่รอดชีวิตมาได้ ท่านอีจิงก็ได้มาถึงที่หมาย ศึกษาพระพุทธศาสนา ณ แคว้นลังกา จนสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ และด้วยความสำนึกในบุญคุณของเต่าใหญ่ที่ได้ช่วยชีวิตท่าน เมื่อครั้นเดินทางไปศึกษาพระธรรม ท่านอีจิงจึงได้ริเริ่มให้มีการทำขนมเต่าสีแดง หรืออ่างกู้ เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีต่างๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีน ได้แก่ ประเพณีพ้อต่อ, ประเพณีกินผัก (เจ) เป็นต้น

วิธีการทำขนมเต่า (อ้างกู้)



ขอบคุณภาพถ่ายจาก http://www.sabaiphuket.com/photo_gallary/g_show.php?gid=88.

ส่วนผสม
-แป้งข้าวสาลี
-น้ำตาลทราย
วิธีการทำขนมเต่า
1.นำแป้งข้าวสาลี มาคลุกกับน้ำตาลทราย
2.นวดจนแป้ง และน้ำตาลทรายรวมเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะเหนียวข้น
3.จากนั้นนำไปวางทาบบนกระทะมีลักษณะเป็นใบบัว อัดกดลงไป
4.นำสีแดงไปทาบนขนม แต่ลวดลายต่างๆ และจำรึกคำมงคลต่างๆ

3. ความเชื่อ และคุณค่าต่างๆ ที่ปรากฏในขนมเต่า
3.1 เรื่องของความกตัญญู
จากการศึกษาเรื่องขนมเต่านั้น พบว่าเป็นการแสดงความกตัญญ และระลึกถึงพระคุณของเต่าที่ได้ช่วยชีวิตพระภิกษุรูปหนึ่งให้รอดพ้นจากความตาย ขณะเดินทางไปศึกษาพระธรรม ณ แคว้นศรีลังกา จากนั้นจึงริเริ่มการทำขนมเต่าสีแดง เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีผ้อต่อ อีกทั้งยังนำมาผนวกกับประเพณีมงคลอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังพบเรื่องความกตัญญูที่เกี่ยวกับขนมเต่า นั่นก็คือ การที่คนได้ขอขนมเต่าจากองค์พ้อต่อ ในประเพณีงานพ้อต่อ (วันสารทจีนของคนภูเก็ต) เพื่อไปรับประทานให้ความเป็นสิริมงคล ในปีถัดไปเมื่อเทศกาลพ้อต่อเวียนกลับมาอีกครั้ง ผู้ที่เคยขอในปีที่แล้ว จะต้องนำขนมเต่าที่มีขนาดเท่ากัน หรือใหญ่กว่าที่ได้จากที่เคยได้ในปีแล้ว มาถวายที่ศาลเจ้าพ้อต่อด้วย นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณ ที่มีนัยสำคัญว่า เมื่อได้กินขนมเต่าจากคนที่ได้นำมาถวายให้กับศาลเจ้าแล้ว ในปีต่อไปผู้อื่นที่ยังไม่ได้กิน และมีความประสงค์ที่จะกิน ก็จะได้มีขนมเต่ามาให้กินอยู่ทุกๆ ปี เป็นอย่างนี้อยู่ตลอด ไม่มีวันที่ขนมเต่านี้จางหายไปจากประเพณีดังกล่าวอีกต่อไป

3.2. เรื่องโชคลาง
สำหรับความเชื่อเรื่องโชคลาง ที่ปรากฏในขนมเต่านั้น มีความเชื่อว่า หากใครที่ได้กินขนมเต่า (อ่างกู้)จะประสบแต่เรื่องดีๆ ที่เป็นมงคล

3.3 ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
หากได้นำขนมเต่าที่ตัวใหญ่กลับไปบ้าน กินคนเดียวคงจะไม่หมดแน่ ก็ให้แบ่งความเป็นมงคลเหล่านี้เผื่อแผ่แก่คนในครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหายด้วย การกระทำดังกล่าวหากพิจารณาถึงนัยสำคัญ นั่นคือ เป็นสิ่งที่ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดี ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง

3.4 ความสามัคคี
ขนมเต่าที่ปรากฏในงานประเพณีต่าง ๆแสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนในเมือง ที่ร่วมกันนำถวายแก่ศาลเจ้า นำไปบูชา เซ่นไหว้เจ้า อยู่ให้เห็นตลอดตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน เป็นความสามัคคีที่ร่วมใจกันสืบทอดมาให้เห็นจนทุกวันนี้

3.5 ความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ก่อนจะนำไปรับประทานได้นั้นจะต้องมีการขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เทพเจ้านั่นเอง โดยใช้ปัวะโป้ยเครื่องเสี่ยงทายเป็นตัวบอกคำตอบว่าเทพเจ้าจะให้ผู้นั้นนำกลับไปรับประทานหรือไม่ หากอนุญาติจึงสามารถจะนำกลับไปได้ แต่หากไม่ได้คนนั้นก็จะต้องยอมรับ และอาจจะขอใหม่ได้ในประเพณีอื่นๆ ที่มีขนมเต่า หรืออาจจะขอในปีถัดไป ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพราะทุกคนที่เข้าไปทำการเสี่ยงทายขออนุญาติล้วนแต่มีพื้นฐานความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันทุกคน

3.6 นำมาประกอบอาชีพหลัก
การทำขนมเต่า ไม่ใช่ทำเพียงแค่เมื่อมีเทศกาล หรือประเพณีสำคัญๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถทำขนมเต่าขายเป็นอาชีพหลัก เพื่อนำเงินมาเลี้ยงชีพได้อีกด้วย เพียงแต่ว่าไม่ได้ปั้นออกมาเป็นรูปเต่าเท่านั้นเอง แต่จะตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนรสชาดมีรสชาดเหมือนกับขนมเต่าทุกประการ คือ รสหวานจัด โดยจะมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมโก๋อ่อน ชาวท้องถิ่นจะนิยมนำมารับประทานกับกาแฟในยามบ่าย

4. ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องของขนมเต่า (อ่างกู้)

4.1 ภูมิปัญญาด้านประเพณี
- ประเพณีผ้อต่อ (วันสารทจีน)
เมื่อไหร่ที่มีประเพณีพ้อต่อขึ้น ก็จะเห็นขนมเต่า เรียงรายปรากฏอยู่ในงานด้วย ถึงแม้ว่าขนมเต่าจะปรากฏให้เห็นในเครื่องเซ่นไหว้ประเพณีมงคลๆ ต่างๆของชาวจีนแล้ว แต่ขนมเต่าในประเพณีพ้อต่อจะเป็นขนมเต่าตัวใหญ่เท่านั้น ขนมเต่าตัวใหญ่ จะมีชื่อเรียกว่า ตั่วกู้ ในขณะที่ขนมเต่าตัวเล็กนั้น เราเรียกว่า อ่างกู้ ส่วนงานประเพณีมงคลอื่นๆ เช่น ประเพณีกินเจ , ประเพณีการเกิด เป็นต้น แต่ขนมเต่าจะมีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สลับกันไป

- ประเพณีกินผัก (เจ)
ชาวไทยเชื้อสายจีนทางภาคใต้ไม่ว่าจะเป็น พังงา ภูเก็ต ตรัง ระนอง เป็นต้น ล้วนแต่จะมีประเพณีกินผัก (เจ) ที่ยิ่งใหญ่ และน่าสนใจกว่าภูมิภาคอื่นๆ ด้วยพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ที่ปรากฏในประเพณีกินผัก (เจ) นั่นเอง นอกจากอาหารเจที่มีให้เลือกมากมายในประเพณีกินผักแล้ว ขนมเต่าก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ปรากฏให้เห็นในประเพณีกินผัก (เจ) ด้วยอีกเช่นกัน เพราะขนมเต่าเป็นขนมที่ทำจากแป้ง และน้ำตาล โดยไม่มีเนื้อเต่าเจือป่นมาแต่อย่างใด ขนมเต่าจึงสามารถนำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีกินผัก (เจ) ได้ ส่วนขนาดของขนมเต่าจะมีหลายขนาดด้วยกัน ไม่ว่าจะเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่

- ประเพณีตรุษจีน
ถือเป็นอีกประเพณีที่บูชาเทวดา หรือเทพเจ้าสูงสุดบนสวรรค์ นิยมนำขนมเต่ามาเซ่นไหว้เช่นกันนำขนมนี้มาไหว้เพื่อให้อายุมั่นขวัญยืน

4.2 ภูมิปัญญาเรื่องการเสี่ยงทาย
การศึกษาเรื่องขนมเต่า พบว่า ขนมเต่า มีความสัมพันธ์กับการเสี่ยงทาย โดยไม่สามารถแยกจากกันได้ นั่นก็คือ การทำพบเห็นขนมเต่า ปรากฏในงานเทศกาล ประเพณีต่างๆ นั้น หากใครมีความประสงค์ที่จะนำกลับไปกินที่บ้าน เพื่อความเป็นมงคลแล้ว ก่อนที่จะนำเต่ากลับบ้านจะต้องขออนุญาติแก่องค์พ้อต่อในประเพณีผ้อต่อก่อน หรือแม้กระทั่งในประเพณีกินผัก (เจ) ก็จะต้องทำการขออนุญาติจากเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ก่อน สำหรับเครื่องเสี่ยงทายที่นำมาใช้สำหรับการขออนุญาตินำขนมเต่าไปกินได้นั่น เรียกว่า ปัวะโป้ย
คือ การทอดวัตถุเสี่ยงทายเพื่อทราบรหัสคำตอบว่าใช่หรือไม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นรากไม้ไผ่ผ่าซีก แผ่นไม้ที่จัดทำขึ้นพิเศษ มีลักษณะกลมรีเหมือนรูปไต ด้านหนึ่งโค้งนูนคล้ายหลังเต่า ส่วนอีกด้านหนึ่งขัดผิวเกลี้ยงเรียบ จำนวน ๒ ชิ้น และเหมือนกันทั้ง 2 ชิ้น
จากนั้นจะนำเอาวัตถุเสี่ยงทายทั้งสองชิ้นยกขึ้นมาประกบกัน ตั้งจิตอธิษฐาน แล้วบรรจงปล่อยให้หล่นลงสู่พื้น ณ บริเวณเบื้องหน้าแท่นบูชา ซึ่งการเสี่ยงทายนี้สามารถกระทำได้ เพียง 3 ครั้งเท่านั้น สำหรับผลลัพธ์ที่จะปรากฏ คือ การตอบรับ – การปฏิเสธ โดยมีความหมายดังนี้
แบบที่ 1 หากโป๊ยแล้วออก หงาย – คว่ำ หมายถึง แสดงว่าท่านให้
แบบที่ 2 หากโป๊ยออก หงาย – หงาย หรือ คว่ำ – คว่ำ หมายถึง ท่านยังไม่ให้
อย่างไรก็ตาม หากการโป๊ยขอใหม่ได้อีก 2 ครั้ง หากครบสามครั้งแล้วยังไม่ได้ ก็ให้หยุดทำการขอนั้นเสีย

4.3 ภูมิปัญญาในเรื่องของสัญลักษณ์
สำหรับขนมเต่านั้น มีสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ 2 ประการ อันได้แก่
- สีแดง หมายถึง เป็นสีที่เป็นมงคลของชาวจีน
- ลักษณะเป็นรูปเต่า หมายถึง เต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว
เพราะฉะนั้นหากใครได้ไหว้เต่าจึงเป็นการต่ออายุให้ตนเอง และถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ด้วย

4.4 ภูมิปัญญาด้านภาษา
การศึกษาเรื่องขนมเต่าพบว่า เมื่อผ่านขั้นตอนกระบวนการทำขนมเต่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นผู้ทำจะต้องมีการเขียนคำที่เป็นมงคลต่างๆ สลักไว้หลังเต่า ได้แก่
ร่ำรวย - กินแล้วจะส่งผลให้ร่ำรวย
โชคดี - กินแล้วจะส่งผลให้โชคดี
สุขขี - กินแล้วจะส่งผลให้มีแต่ความสุขให้ชีวิต

4.5 ภูมิปัญญาด้านศิลปะ
การทำขนมเต่า มีเรื่องภูมิปัญญาด้านศิลปะมาประยุกต์ใช้ในการทำขนมเต่าด้วย นั่นก็คือ ตัวเต่าจะทาด้วยสีแดง และบนหลังเต่าจะมีการวาดลวดลายต่างๆ อันได้แก่ ดอกไม้ ใบไม้ สีต่างๆ ตัดกับลายเส้น ทั้งนี้เพื่อให้เต่ามีลักษณะสีสันสวยงามมากขึ้น

5. การนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน
ขนมเต่าในปัจจุบันนอกจากจะพบเห็นในช่วงเทศกาลต่างๆ และเนื่องจากว่าบางคนได้ขนมเต่าตัวใหญ่กลับไปทานที่บ้านนอกจากจะแจกจ่ายไปแก่เพื่อนบ้าน ญาติสนิทแล้ว ขนมเต่าที่เหลือก็ยังเยอะอยู่ เพราะเนื่องจากว่าเป็นขนมที่มีรสหวานจัด จึงอาจทำให้ผู้ทานทานได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น และหากทิ้งไว้หลายวันก็อาจจะทำให้ขนมเสียได้ เพราะสภาพอากาศทางภาคใต้จะมีลักษณะร้อนชื้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดราขึ้นขนมได้เสียง่ายๆ ดังนั้นชาวบ้านบางบ้านจึงนำขนมเต่านี้นำไปชุบไข่แล้วนำไปทอด เหมือนกับการทอดขนมเข่ง ถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ขนมเต่านี้มีรสชาดที่อร่อยอีกแบบหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดีขนมเต่าดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นทางภาคอื่นๆ ของประเทศไทยอีกด้วย หากเพียงแต่ว่าไม่ได้ปั้นเป็นรูปเต่าเหมือนตอนนำไปเป็นเครื่องบวงสรวงในประเพณีทางภาคใต้ แต่ขนมเต่าที่วางขายตามร้านทำขนมทั่วไปหาซื้อได้ทุกวันจะมีลักษณะเป็นท่อนยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อแป้งสีขาวขุ่น เหนียว นุ่ม รสชาดหวานจัด ทั้งนี้ขนมเต่าจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมโก๋อ่อนนั่นเอง นิยมนำมารับประทานกับกาแฟยามบ่าย นอกจากนี้ขนมโก๋อ่อนยังมีการพัฒนาเป็นรสชาดใหม่ๆ ออกมาให้รับประทานกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ไปผสมกับแป้งเพื่อให้มีความหอมยิ่งขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังมีการพัฒนาในลักษณะของขนมโก๋อ่อนสอดไส้รสชาดต่างๆ เช่น ขนมโก๋อ่อนสอดไส้งาดำ, ขนมโก๋อ่อนสอดไส้ชาเขียว, ขนมโก๋อ่อนสอดไส้ถั่วเขียว, ขนมโก๋อ่อนสอดไส้ถั่วดำ เป็นต้น

6. แนวทางการสืบทอดการทำขนมเต่า (อ้างกู้)
ขนมเต่า (อ่างกู้) ถึงแม้จะเป็นขนมที่มีความคิด ความเชื่อมาจากชาวจีนแล้ว ยังสามารถถ่ายถอดมาสู่สังคมไทย จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และกลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์สำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ทางภาคใต้ ควรค่าแก่การอนุรักษื และสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป โดยมีแนวทางการอนุรักษ์ดังนี้
1. ในช่วงที่มีประเพณีสำคัญๆ ต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น กินผัก (เจ) ,ผ้อต่อ (วันสารทจีน), วันตรุษจีน เป็นต้น มักจะมีการไหว้ขนมเต่าร่วมในประเพณีดังกล่าวด้วย ดังนั้นในงานประเพณีเหล่านี้ ร้านขนมต่างๆ ที่รับทำขนมเต่าก็มีการเปิดร้านให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวงานประเพณีดังกล่าวได้เยี่ยมชมร้าน พร้อมกับรับชมการสาธิตวิธีการทำขนมเต่า อีกทั้งตั้งซุ้มจัดสอนให้แก่ผู้ที่สนใจอยากทำ เพื่อให้ขนมเต่านี้อยู่คู่กับประเพณีสำคัญต่อไปในอนาคต
2. นอกจากขนมเต่าที่ปั้นเป็นรูปเต่าแล้ว เพื่อให้ขนมอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของชาวไทยเชื้อสายจีนทางภาคใต้แล้ว ก็มีการทำขนมเต่าในรูปแบบที่ไม่ต้องปั้นเป็นรูปเต่า เรียกอีกชื่อว่า ขนมโก๋อ่อน ซึ่งขั้นตอนการทำจะง่ายกว่าขนมเต่า ตรงที่ไม่ต้องมาปั้นเป็นตัวเต่า เพียงแค่ตัดเป็นชิ้นๆ เท่านั้น ง่ายแก่การหาซื้อมารับประทาน และสามารถขายได้ทุกวัน ส่งเสริมให้กลายเป็นสินค้า OTOP ต่อไป
3. มีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิชาเรียนคหกรรมตามสถาบันการศึกษาในท้อง
ถิ่นต่างๆ หรือจัดทัศนศึกษาไปยังแหล่งเรียนรู้ กล่าวคือ พาไปร้านที่ทำขนมโก๋อ่อน เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากการไปทัศนศึกษา และได้ปฏิบัติจริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังนักเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาในท้องถิ่นนั้นๆ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดภูมิปัญญาดังกล่าวในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณอ้อม
www.kathutin.com/main/index.php?option=com_content&task=view&id=96&Itemid=5.
http://lip.kru.ac.th/bsru/48/rLocal04/stories.php?story=06/02/11/8698652.

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พิธีกรรมที่เกิดขึ้นตลอด 9 วันของการกินผัก (เจ) อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

- พิธีป้างเอี๋ยกุน ในอดีตบ้านเมืองยังไม่มีความเจริญ การเดินทางไม่สะดวก ไม่มีปฏิทิน ผู้คนต่าง ทำมาหากินในที่ต่างๆ การส่งข่าวสารจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้นทางศาลเจ้าจึงมีการทำพิธีป้างเอี๋ยกุน คือ พิธีกรรมปล่อยทหารทั้ง 5 กองทัพ เพื่อเป็นการเตือน หรือแสดงอภินิหารต่างๆ ให้คนที่กินผัก(เรียกว่า พวกฉ่ายอิ๋ว) ประจำปี ได้รับรู้ว่าใกล้ถึงเวลาที่กินผักแล้ว ขอให้เตรียมตัวกลับมาตะกั่วป่า เช่น ทำการกระตุกเท้าตอนนอน ,การเข้าฝัน เป็นต้น โดยพิธีนี้จะทำขึ้นก่อนกินผัก 15 วัน ในเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ ตามปฏิทินจีน สำหรับพิธีกรรมปล่อยทหารทั้ง 5 กองทัพ คือ
กองทัพที่ 1 ทิศตะวันออก ธงสีเขียว มี “เอี่ยวเจี้ยน” เป็นแม่ทัพ มีทหาร 99,000 นาย
กองทัพที่ 2 ทิศตะวันตก ธงสีขาว มี “บุ๋นเกียด” เป็นแม่ทัพ มีทหาร 66,000 นาย
กองทัพที่ 3 ทิศใต้ ธงสีแดง มี “อ๋อเองซุน” เป็นแม่ทัพ มีทหาร 88,000 นาย
กองทัพที่ 4 ทิศเหนือ ธงสีดำ มี “ลุ่ยจิ้นจู” เป็นแม่ทัพ มีทหาร 55,000 นาย
กองทัพที่ 5 ทิศกลาง ธงสีเหลือง มี “ต่งตั๋นหวั่นโซ่ย” เป็นแม่ทัพ มีทหาร 33,000 นาย



- พิธียกเสาหล่อเต้ง จะทำขึ้นก่อนวันกินผัก 1 วัน โดยจะเริ่มในช่วงบ่ายของวันนั้น มีการทำความ
สะอาดศาลเจ้า ประกอบพิธีการ ยกเสาโกเต้ง สำหรับแขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศการว่าพิธีถือศีล กินผัก (กินเจ) เริ่มต้นแล้ว
จากนั้นช่วงเวลา 1 ทุ่มของวันนั้น จะมีพิธีการโก้ยเฉ่งอิ๋ว คือ นำน้ำมันจุดไฟ เพื่อทำการเคลียร์พื้นที่ เป็นการทำความสะอาด และกำจัดสิ่งสกปรกของชั่วร้ายต่างๆ ให้ออกจากพื้นที่ภายในเมืองตะกั่วป่าไปให้หมดเสียก่อนที่จะเริ่มพิธีกินผัก (เจ) จากนั้นจึงจะใช้ เฉ่งปั่วะ (กระถางสำหรับจุดไม้จันทร์หอม) นำไปวางตรงพื้นที่ที่สะอาดแล้วจะได้มีกลิ่มหอม ปราศจากอันตรายต่างๆ ซึ่งพิธีดังกล่าวจะทำโดยม้าทรง หรือร่างทรงพร้อมคณะ จะเดินไปทำพิธีการล้างทำความสะอาดตามบ้านเรือนต่างๆ ทั่วเมืองตะกั่วป่า ซึ่งชาวบ้านจะมีการตั้งโต๊ะ ที่ประกอบไปด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ผลไม้ และน้ำชา เพื่อทำการต้อนรับ ม้าทรง และคณะที่มาทำความสะอาด
เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนม้าทรง กับคณะจะเดินทางไปทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณ กิ่วอ๋องไต่เต่ (เทพ
เจ้าทั้ง 9 พระองค์) ไปเป็นประธานประกอบพิธีกินผัก ที่สะพานแม่น้ำ และกลับไปยังศาลเจ้า

- พิธีบูชาเจ้า บูชาด้วยเครื่องเซ่นต่างๆ ทั้งที่ศาลเจ้า และที่บ้าน เมื่อครบ 3 วัน ในการถือศีลกินผักจะถือว่าผู้นั้นบริสุทธิ์ ภาษาจีน เรียกว่า เฉ่ง

- พิธีโขกุ้น เป็นพิธีเลี้ยงอาหาร ทำในวันขึ้น 3 ค่ำ และ 9 ค่ำ หลังเที่ยง โดยจะเตรียมอาหาร สุรา
เซ่นสังเวย และหญ้าให้ม้าศึกด้วย

- พิธีซ้อนก้ง เป็นการสวดมนต์วันละ 2 ครั้ง

- พิธีบูชาดาว จะทำขึ้นในคืน 7 ค่ำ เพื่อขอให้คุ้มครอง และเป็นสิริมงคลกับผู้ที่กินผัก


- พิธีออกเที่ยว (แห่พระ) ภาษาจีน เรียกว่า เหียนเก่า หมายถึง เซียน หรือเทพเจ้าที่เข้าทรง และรูปปั้นเกาะสลัก จัดขบวนแห่ไปตามที่ต่างๆ ทั่วเมืองตะกั่วป่า เพื่อทำการโปรดสัตว์ ขบวนแห่จะมีป้ายชื่อแขวนธง และดนตรีที่เร้าใจ ได้แก่ กลอง และฆ้อง
จากความเชื่อเรื่องเทพเจ้าของชาวจีน กล่าวว่า เทพเจ้ามีการแบ่งชนชั้นเป็น 3 ระดับ ดังนั้นก่อนที่จะนำเทพเจ้าออกเที่ยว จะต้องมีพิธีการตีกลองในพิธีกินผัก (เจ) ซึ่งมีความหมายในแต่ละครั้ง แตกต่างกันไป ดังนี้

การตีครั้งที่ 1 เป็นการแสดงความเคารพเทพเจ้าชั้นล่างสุด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 36 องค์ การตีกลองครั้งแรกนี้จึงตีจำนวนทั้งสิ้น 36 ครั้ง โดยจะทำพิธี ณ ห้องประทับที่ทางศาลเจ้าจัดไว้

การตีครั้งที่ 2 พิธีกรจะอันเชิญดวงวิญญาณกิ๋วอ๋อง (เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์) ออกจากห้องประทับไปยังเก่ว หรือเกี๊ยว เมื่ออันเชิญดวงวิญญาณประทับเก่วเฒ่าแล้ว จึงจะตีกลอง และฆ้องครั้งที่ 2 เพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าชั้นกลาง มีจำนวน 72 องค์ ดังนั้นจะต้องตีกลองจำนวนทั้งสิ้น 72 ครั้ง

การตีครั้งที่ 3 พิธีกรจะอ่านรายชื่อผู้ที่มาลงชื่อทำบุญในพิธีกินผัก (เจ) ทุกคน รวมถึงกรรมการ และผู้ที่มาช่วยในงานกินผัก ทุกคน (ซึ่งจะอ่าน 2 วัน คือ วันที่ 6 และวันที่ 9 ของการกินเจ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการแจ้งให้สวรรค์ได้รับรู้ เมื่ออ่านเสร็จแล้ว ก็จะตีกลอง และฆ้องอีกเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าชั้นสูงสุด มีจำนวน 108 องค์ จึงต้องตีกลองจำนวนทั้งสิ้น 108 ครั้ง เพื่อเป็นการถวายความเคารพต่อเทพเจ้าทุกๆ พระองค์ที่สถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

จากนั้นม้าทรง (ร่างทรง) และคณะ จะเดินออกแห่ทั่วเมืองตะกั่วป่า จะเดินไปตามบ้านเรือนที่ตั้งเครื่องบูชา ซึ่งได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน น้ำชา ผลไม้ เป็นต้น เพื่อทำการโปรดสัตว์ และมีการแสดงอภินิหารต่างๆ เช่น การใช้เหล็กแทงปาก ใช้ลูกตุ้มหนามทุบตามร่างกาย นอกจากนี้พระที่เป็นรูปปั้นแกะสลักประทับในเก่ว (หรือเกี้ยว) หามไปในขบวนแห่ จะใช้สำหรับขบวนแห่วันที่ 6 และวันที่ 9 ของการกินผัก โดยเก่วที่ใช้ในวันนั้นจะมี 2 รูปแบบ

1) เก่วหนุ่ม (ภาษาท้องถิ่น)หรือเกี้ยวธรรมดา เมื่อเกี้ยวนี้ถึงหน้าบ้านใคร ก็จะมีการจุดประทัด เพื่อเป็นการแสดงการต้อนรับ ผู้ที่หามเกี้ยวนี้จะต้องเป็นผู้ที่ถือศีลกินผัก ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด และเป็นผู้ชายเท่านั้นดังนั้นการเล่นประทัด ผู้ที่มีความบริสุทธิ์จริง จะมีแค่รอยฉีกขาดของเสื้อผ้าเท่านั้น


2) เก่วเฒ่า (ภาษาท้องถิ่น) หรือเกี้ยวเฒ่า หมายถึง เกี้ยวที่เป็นที่ประทับดวงวิญญาณของกิ๋วอ๋อง ซึ่งภายในเก่วเฒ่านี้จะมีแค่กระถางธูป ที่ได้ทำพิธีอันเชิญดวงวิญญาณเทพเจ้าเข้าไปประทับนั่นเอง โดยเก่วนี้ เมื่อไปถึงหน้าบ้านใครจะไม่มีการจุดประทับใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะกราบไหว้แทน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ

- พิธีแสดงอภินิหาร เช่น การลุยกองไฟ การปีนบันไดมีด อาบน้ำมัน
- พิธีข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ (โก๊ยห่าน) ผู้ข้ามสะพานสะเดาะห์เคราะห์จะเขียนชื่อตัวเองลงในกระดาษ พร้อมธูป 1 ดอก แล้วนำไปมอบให้ม้าทรงที่ยืนอยู่ 2 ข้างสะพาน เมื่อข้ามสะพานเสร็จแล้วจะมีการประทับตราสีแดงเป็นตัวอักษรภาษาจีนที่เสื้อด้านหลัง โดยผู้ที่จะข้ามสะพานนั่นจะต้องใส่เสื้อขาว กางเกงขาวเท่านั้น ห้ามสตรีคนใดที่มีประจำเดือน หรือมีครรภ์ทำพิธีข้ามสะพานสะห์เคราะห์เด็ดขาด
- พิธีการส่งพระ ทำในวันสุดท้ายของการกินผัก กลางวันจะทำการส่งหยกอ๋องซ่งเต่ หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ที่หน้าเสาหล่อเต้ง ส่วนกลางคืนจะส่งพระกิ๋วอ๋องฮุดโจ๋วกลับสู่สวรรค์ทางทะเล สำหรับผู้ที่จะไปส่งพระนั้นต้องใส่ชุดขาว พร้อมกับธูปใหญ่ 1 ดอก เมื่อขบวนออกพ้นประตูศาลเจ้า ตะเกียงเสาหล่อเต้งจะถูกลดลง และส่งพวกทหารกลับสู่สวรรค์ ซึ่งเป็นอันเสร็จพิธี


ข้อควรปฏิบัติ 10 ประการสำหรับผู้ที่ถือศีลกินผัก (เจ)
1. ชำระร่างกายให้สะอาดตลอดช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
2. ทำความสะอาดเครื่องครัวและแยกใช้คนละส่วนกับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลกินผัก
3. ควรสวมชุดขาวตลอดช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
4. ประพฤติตนดีทั้งกายและใจ
5. ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์
6. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
7. ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
8. ผู้ที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ไม่ควรร่วมงานประเพณีถือศีลกินผัก
9. หญิงมีครรภ์ไม่ควรดูพิธีกรรมใด ๆ ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก
10. หญิงมีประจำเดือนไม่ควรร่วมพิธีกรรมใด ๆ ในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เทศกาลกินผัก (เจ) ตะกั่วป่า

อำเภอตะกั่วป่า เป็นเมืองในสมัยโบราณ ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า ตะโกลา ถือเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เป็นผู้ปกครองเมือง และมีนโยบายให้ทำเหมืองแร่ เนื่องจากตะกั่วป่า ถือว่าเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุก สามารถส่งเงินรายได้เข้ากรุงเทพ เพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน
ด้วยความเจริญในการทำเหมืองแร่นี่เอง ทำให้ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาอาศัยทำเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณชุมชนคลองปิของตะกั่วป่า ซึ่งคนจีนเหล่านี้มีความเชื่อ ความศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดโรคไข้ป่า หรือไข้มาลาเรีย ระบาดขึ้นทั่วเมือง ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในตะกั่วป่าขณะนั้น ต่างก็อันเชิญเทพเจ้า เคารพบูชาประกอบกับทำพิธี เจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ขึ้น ในเวลาต่อมาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็หายไปหมดสิ้น สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนในเมือง และต่างก็หันมาศรัทธา ดังนั้นจึงมีการก่อตั้งศาลเจ้าขึ้น (หรือเรียกว่า “อ้าม” มาจากภาษาจีนฮกเกี๊ยน) ประกอบกับทำพิธีกินผัก (เจ) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เจี๊ยะกิวอ่องฉ่าย (กินผัก) ขึ้นในปีมะเส็ง เดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำ ตรงกับปี พ.ศ.2386 และสืบทอดประเพณีกินผัก (เจ) มาถึงทุกวันนี้
ในเวลาต่อมาเจ้าพ่อกวนอูได้ประทับร่างทรง นายก่าวหยี (ผู้ดูแลศาลเจ้าในขณะนั้น) และบอกว่าจะเดินทางไปเกาะสอง ประเทศพม่า เพื่อทำการปราบปราม โปรดสัตว์ และโปรดมนุษย์พร้อมกับรักษาคนจีนที่สูบฝิ่น และคนป่วยด้วย เมื่อถึงวันที่เดินทางนายก่าวหยี่ได้ทำพิธีอันเชิญเทพเจ้ากวนอูใส่ตระกร้าหวาย พร้อมกับจุดธูป 9 ดอก เดินทางโดยนั่งเรือไปยังเกาะสอง เมื่อไปถึงเกาะสอง นายก่าวหยีรู้สึกแปลกใจมาก เนื่องจากมีธงจีนมีชื่อพระประดับประดาไปทั้งเกาะ จากนั้นได้มีเถ้าแก่ใหญ่ใส่ชุดขาว ถือธูปที่จุดแล้ว 9 ดอก นั่งคุกเข่าโขกศรีษะอยู่ที่ท่าเรือ เพื่อรอรับเทพเจ้ากวนอู จากนั้นได้ทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้ากวนอูขึ้นประทับเก่ว พร้อมกับจัดขบวนแห่ไปทั่วตลาดเกาะสอง จนกระทั่งถึงโรงพิธี นายก่าวหยีจึงสอบถามว่าทราบได้อย่างไรว่าเทพเจ้ากวนอูจะมาที่นี่ เถ้าแก่จึงให้คำตอบว่าเทพเจ้ากวนอูได้แสดงอภินิหารโดยการเข้าฝันว่าท่านที่อยู่ที่ตะกั่วป่า และจะเดินทางมาเกาะสอง เพื่อที่จะทำการรักษาคนจีนที่ติดฝิ่น และปราบปรามคนจีนที่สูบฝิ่นด้วย จึงขอให้เถ้าแก่ต้อนรับด้วย ดังนั้นตนจึงได้ปฏิบัติตามความฝัน ในที่สุดนายก่าวหยี และเทพเจ้ากวนอูได้ประทับอยู่ที่เกาะสองเป็นระยะเวลา 3 ปี จากนั้นได้ลาชาวจีน และเถ้าแก่ เพื่อเดินทางกลับตะกั่วป่า ก่อนที่จะเดินทางกลับเถ้าแก่ได้มอบกิ้มซิ่นรูปพระ 2 องค์ คือ รูปเต้เอี๋ยเทพเจ้ากวนอูเป็นรูปที่ยืนแต่งตัวแบบนักรบ (บู่ซิ่น) และรูปโลเฉี่ย (ต่งตั๋นหวั่นโซ่ย) เพื่อเป็นที่สักการะ และจัดพิธีกินผักของชาวตะกั่วป่าต่อไป สำหรับพิธีกินผักของชาวตะกั่วป่านั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2386 – ปัจจุบัน
(2551) รวมระยะเวลาเป็น 165 ปีบทวิเคราะห์ตำนานเทศกาลกินเจ
1. ภาพสะท้อนวิถีชีวิตจากวรรณกรรม

ประวัติศาสตร์ ทราบถึงความสำคัญของเมือง เช่น เดิมตะกั่วป่า ชื่อว่า ตะโกลา ถือว่าเป็นเมืองโบราณที่สำคัญเมืองหนึ่ง ปรากฏตั้งแต่สมัยสุโขทัย – รัตนโกสินทร์ ถูกรุกรานจากพม่า สร้างความเสียหายให้กับเมืองเป็นอย่างมาก
อาชีพหลัก(ในสมัยนั้น) คือ การทำเหมืองแร่ดีบุก เกิดเป็นรายได้แผ่นดิน ชาวจีนจึงอพยพเข้ามาประกอบอาชีพ เพื่อทำเหมืองแร่ และได้นำวัฒนธรรมของตัวเองมาสืบทอดให้ชาวตะกั่วป่าในเวลาต่อมา
การเดินทาง ซึ่งยานพาหนะที่ใช้สมัยนั้น จะเป็นเรือ โดยความตอนหนึ่งในตำนานเทศกาลกินผัก (เจ) ของเมืองตะกั่วป่า ได้กล่าว่า นายก่าวหยี่ที่ดูแลศาลเจ้าเดินทางไปยังเกาะสอง ประเทศพม่า โดยใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ทั้งนี้เพื่อทำการโปรดสัตว์ รักษาชาวจีนที่ติดฝิ่น ตามที่เทพเจ้าได้มีความประสงค์จะไป เป็นต้น

2. ภาพสะท้อนความเชื่อในด้านต่างๆ
2.1 ความเชื่อในพระพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ
2.1.1 ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติให้อยู่ในศีลธรรม
งดเว้นการฆ่าสัตว์ บริโภคเนื้อสัตว์ ละอบายมุขแล้ว ยังเป็นการรักษาศีล ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ทั้งกาย วาจา และใจ ควบคู่กันไปด้วยในระหว่างเทศกาลกินผัก (เจ)
2.1.2 ความเชื่อในเรื่องกฏแห่งกรรมหากบุคคลใดมีความประพฤติดี ก็จักประทานพร อำนวยความสมบูรณ์พูนสุขให้ หากว่า
บุคคลใดมีความประพฤติในทางอกุศลกรรมวิถี(กรรมชั่ว) ก็จะลงโทษ นั่นคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั่นเอง
2.1.3 การผสมผสานลัทธิความเชื่อต่างๆ
นิกายมหายาน มีความเชื่อในพระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม
ลัทธิเต๋า มีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธ์ต่างๆ รวมถึงเทพเจ้าต่างๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์
ลัทธิขงจื้อ มีความเชื่อเรื่องของความกตัญญู จริยธรรม
เมื่อลัทธิความเชื่อต่างๆ หล่อรวมกันจึงกลายเป็นประเพณีกินผัก (เจ) ที่สืบทอดกันมายาวนาน

2.2 ความเชื่อในเทพเจ้า
เชื่อว่าเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์นี้ เป็นเทพเจ้าประจำดาวพระเคราะห์ ซึ่งแต่ละองค์ทำหน้าที่
ผลัดเปลี่ยนกันดูแลโลก ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน โดยที่พระเคราะห์เหล่านี้มีอิทธิพลอยู่เหนือธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุทอง ซึ่งธาตุทั้ง 4 เหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะหากปราศจากธาตุเหล่านี้ มนุษย์ , สัตว์ , พืช ล้วนแต่ต้องตาย ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงบูชาพระเคราะห์ดังกล่าว

2.3 ความเชื่อด้านฤกษ์ยาม
การทำพิธีกรรมทุกๆอย่างในเทศกาลกินผัก (เจ) จะมีการดูฤกษ์ยามที่เหมาะสม ซึ่งทางศาลเจ้าจะใช้วิธีการปัวะโป้ย (คือ การทอดวัตถุเสี่ยงทายเพื่อทราบรหัสคำตอบว่าใช่หรือไม่) มีลักษณะเป็นรากไม้ไผ่ผ่าซีก แผ่นไม้ที่จัดทำขึ้นพิเศษ มีลักษณะกลมรีเหมือนรูปไต ด้านหนึ่งโค้งนูนคล้ายหลังเต่า ส่วนอีกด้านหนึ่งขัดผิวเกลี้ยงเรียบ จำนวน ๒ ชิ้น และเหมือนกันทั้ง 2 ชิ้นซึ่งก่อนจะทำการโป้ย จะต้องท่องคาถา จากนั้นจึงโยนโป้ยดังกล่าว ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมามี 2 ลักษณะดังนี้
1) ลักษณะคว่ำ 1 อัน หงาย 1 อัน หมายถึงว่า สามารถเริ่มพิธีกรรมต่างๆ ได้
2) แต่ถ้าหากออกมาในลักษณะที่คว่ำทั้ง 2 อัน หรือหงายทั้ง 2 อัน จะหมายถึง ยังไม่ถึงเวลาที่จะเริ่มพิธีกรรมใดๆ ผู้ที่ทำพิธีจะต้องทำการท่องคาถาใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมกับโป้ยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกมาในลักษณะที่ 1) กล่าวคือ คว่ำ 1 อัน หงาย 1 อัน

2.4 ความเชื่อในเรื่องข้อห้ามต่างๆ
ข้อห้ามในการละเว้นการกินผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ประเภท อันได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว, กุ้ยฉ่าย, ใบยาสูบ จะเห็นได้ว่า ผักทั้ง 5 ชนิดพบอยู่ในข้อห้ามของการกินผัก (เจ) หากพิจารณาถึงนัยสำคัญของข้อห้ามการกินผักทั้ง 5 นี้ ล้วนแต่ให้โทษแก่ร่างกายทั้งสิ้น
กระเทียม ทำลายการทำงานของของหัวใจ กระทบต่อธาตุไฟ
หัวหอม ทำลายการทำงานของไต กระทบต่อธาตุน้ำ
หลักเกียว ทำลายการทำงานของม้าม กระทบต่อธาตุดิน
กุ้ยฉ่าย ทำลายการทำงานของตับ กระทบต่อธาตุไม้
ใบยาสูบ ทำลายการทำงานของปอด กระทบต่อธาตุโลหะ

3. ภูมิปัญญาที่ปรากฎอยู่ในตำนานเทศกาลกินผัก (เจ)
3.1 ภูมิปัญญาด้านอาหาร
มีการประกอบอาหารเจในรูปแบบต่างๆ มากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนเกษตรที่นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย และให้คุณค่าสารอาหารแทนเนื้อสัตว์ ที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลกินผัก (เจ) ของอ.ตะกั่วป่า นั่นก็คือ ขนมเต่า ทำด้วยแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาล ปั้นเป็นตัว หรือพิมพ์เป็นรูปเต่า ขนาดต่างๆ และย้อมด้วยสีแดง สาเหตุที่ปั้นเป็นรูปเต่านั้น กล่าวคือ เต่า ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาวจีน หมายถึง ความมีอายุยืนยาว ส่วนที่ทาขนมเต่าด้วยสีแดงนั้น สีแดงก็ถือเป็นสีที่อันเป็นมงคลของชาวจีน

3.2 ภูมิปัญญาด้านภาษา
มีคำศัพท์ภาษาจีนต่างๆ มากมายที่ปรากกฏอยู่ในพิธีกรรมต่างๆ ของเทศกาลกินผัก (เจ) เมืองตะกั่วป่า ซึ่งคำศัพท์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นที่เข้าใจความหมายตรงกันทุกคนของชาวเมืองดังนั้นจึงมีการผสมผสานภาษาในการใช้ระหว่างภาษาท้องถิ่น (ภาษาใต้) และภาษาจีน ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของเทศกาลกินผัก (เจ) ตัวอย่างเช่น กิ๋วอ๋อง-เทพเจ้าทั้ง 9,พวกฉ่ายอิ๋ว-คนที่กินผัก เป็นต้น

3.3 ภูมิปัญญาด้านอาชีพ
สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านอาชีพหลักของคนในท้องถิ่น ซึ่งก็คือ การขุดแร่ดีบุก ถือว่าเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่มีอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของชาวจีน และชาวต่างชาติอื่นๆ เข้ามาประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวจีนที่อพยพเข้ามาได้นำเอาวัฒนธรรมของจีนเข้ามาเผยแพร่ในอ.ตะกั่วป่า และสืบทอดประเพณีจนถึงทุกวันนี้

3.4 ภูมิปัญญาด้านเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่สำคัญที่ใช้ประกอบในประเพณีกินผัก (เจ) นั่นก็คือ กลอง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีอื่นๆ อีก เช่น ฉาบ ,ฆ้อง เป็นต้น ทั้งนี้เเครื่องดนตรีเหล่านี้จะใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญในการกินผัก (เจ) เช่น พิธีการตีกลอง และฆ้อง จะทำในวันที่ 6 และวันที่ 9 ของการกินผัก (เจ) ก่อนที่จะอันเชิญดวงวิญญาณของเทพเจ้าทั้ง 9 ไปจัดขบวนแห่ทั่วเมืองตะกั่วป่า เพื่อทำการโปรดสัตว์ อีกทั้งยังสร้างความตื่นเต้นเร้าใจในพิธีกินผัก (เจ)

4. การส่งทอด หรือสืบทอดวิถีชีวิตและความเชื่อมาถึงปัจจุบัน
สืบทอดด้านการทำพิธีกรรมต่างๆ เรียกว่า ฮวดกั๊ว คือ คนที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทั้งหมด เปรียบเสมือนสื่อกลางระหว่างเทพ กับมนุษย์ โดยผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้ จะต้องเป็นคนที่มีความสนใจ และต้องการที่จะเรียนจริงๆ บางคนเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนต่อโต เพื่อสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ และต้องผ่านการยอมรับจากผู้สอนถึงจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้
นอกจากนี้ในแต่ละปีจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อจัดการ และดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเทศกาลกินผัก (เจ) ซึ่งจะมีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ
1)คณะกรรมการศาลเจ้า หรือ ฝ่ายบริหาร (ที่ต้องมีประจำทุกศาลเจ้า) ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน
2)แต่ในช่วงเทศกาลกินผักนั้นจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประจำปีอีก 1 ชุด จำนวน 5 คน ซึ่งจะเรียกว่า เถ้าแกลอจู้ 1 คน และผู้ช่วยลอจู้อีก 4 คน โดยจะทำการคัดเลือกจากรายชื่อของคนที่กินผัก (เจ)

5. ผลจากการปฏิบัติตามพิธีกรรมต่างๆ ในมุมมองด้านต่างๆ
5.1 ด้านสังคม
ผู้คนในเมือง ต่างมีความสามัคคีกัน เช่น พบว่าช่วงนั้นบรรยากาศของเมืองจะเต็มไปด้วยสีขาวของเสื้อผ้า สลับกับสีแดงของประทัด ร่วมกันถือศีล กินผัก พร้อมกับทำบุญสนับสนุนการจัดงาน รวมไปถึงการพร้อมใจที่จะช่วยกันทำอาหารเจ ณ โรงเจ ตลอด 9 วันของการกินผัก (เจ) ผู้ที่ลงชื่อกินผัก (เจ) กับศาลเจ้านั้นๆ ก็สามารถถือปิ่นโต เพื่อเอากับข้าวไปรับประทานที่บ้าน หรืออาจจะทานที่โรงเจก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก ส่งผลให้ผู้คนในเมืองมีความสัมพันธ์ที่ดีรู้จักกันมากขึ้น

5.2 ด้านพฤติกรรม
ปัญหาเรื่องไม่กินผักในเด็ก จึงไม่ค่อยพบ เนื่องจากเด็กได้มีการปลูกฝังให้กินผักตั้งแต่เด็กๆ โดยการปลูกฝังนี้สอดแทรกมากับประเพณีกินผัก (เจ) ที่ชาวเมืองสืบทอดต่อๆ กันมา

5.3 ด้านการท่องเที่ยว
ประเพณีกินผักนี้สร้างความสนใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมากมาย ยินดีที่จะเดินทางไปร่วมพืธีกรรมเหล่านี้ เพื่อพิสูจนให้เห็นกับตา ส่งผลในทางอ้อม คือ การได้เผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

6. แนวคิดสำคัญที่ได้จากการศึกษาภูมิปัญญาในวรรณกรรม
1. เนื้อหาสอดแทรกเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำความดี ละเว้นความชั่ว จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง , การไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ไม่เอาเลือดเนื้อของสัตว์มาเป็นเลือดเนื้อของเรา เมืองตะกั่วป่าจึงมีแต่ความสงบสุขอยู่กันอย่างสันติ
2. สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองตะกั่วป่าในสมัยก่อน (ช่วงเกิดเทศกาลกินผัก (เจ) ครั้งแรก) ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ใช้โดยเรือ, อาชีพในสมัยนั้น คือ การทำเหมืองแร่
3. สอดแทรกความเชื่อในเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีการผสมผสานของวัฒนธรรม คือ เป็นการรับเอาวัฒนธรรมของชาวจีน มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของชาวไทยในท้องถิ่นนั้น
4. ส่งเสริมสังคมให้เกิดความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ได้สอดแทรกมากับพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลกินผัก (เจ) เพราะหากชาวตะกั่วป่าไม่ช่วยเหลือกัน ประเพณีอันดีงามนี้คงไม่ได้สืบทอดมาให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

รูปสวย น่ารัก glitter emoticon www.yenta4.com


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Otosang แปลข้อมูลจากจีนเป็นไทย
Tomodaji ข้อมูลเรื่องม้าทรง

ขอบคุณเว็บไซค์
http:// www.pattaniamulet.com/forums/showthread.php?t=224.
http://www.takola.com//Tradition/chines47/chines47.htm.
http://www.guanim.com/html/PrapeneChina/ChiJ9.html.
http://www.agalico.com/board/archive/index.php/t-312.html.