วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เทศกาลกินผัก (เจ) ตะกั่วป่า

อำเภอตะกั่วป่า เป็นเมืองในสมัยโบราณ ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า ตะโกลา ถือเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เป็นผู้ปกครองเมือง และมีนโยบายให้ทำเหมืองแร่ เนื่องจากตะกั่วป่า ถือว่าเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุก สามารถส่งเงินรายได้เข้ากรุงเทพ เพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน
ด้วยความเจริญในการทำเหมืองแร่นี่เอง ทำให้ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาอาศัยทำเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณชุมชนคลองปิของตะกั่วป่า ซึ่งคนจีนเหล่านี้มีความเชื่อ ความศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดโรคไข้ป่า หรือไข้มาลาเรีย ระบาดขึ้นทั่วเมือง ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในตะกั่วป่าขณะนั้น ต่างก็อันเชิญเทพเจ้า เคารพบูชาประกอบกับทำพิธี เจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ขึ้น ในเวลาต่อมาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็หายไปหมดสิ้น สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนในเมือง และต่างก็หันมาศรัทธา ดังนั้นจึงมีการก่อตั้งศาลเจ้าขึ้น (หรือเรียกว่า “อ้าม” มาจากภาษาจีนฮกเกี๊ยน) ประกอบกับทำพิธีกินผัก (เจ) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เจี๊ยะกิวอ่องฉ่าย (กินผัก) ขึ้นในปีมะเส็ง เดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำ ตรงกับปี พ.ศ.2386 และสืบทอดประเพณีกินผัก (เจ) มาถึงทุกวันนี้
ในเวลาต่อมาเจ้าพ่อกวนอูได้ประทับร่างทรง นายก่าวหยี (ผู้ดูแลศาลเจ้าในขณะนั้น) และบอกว่าจะเดินทางไปเกาะสอง ประเทศพม่า เพื่อทำการปราบปราม โปรดสัตว์ และโปรดมนุษย์พร้อมกับรักษาคนจีนที่สูบฝิ่น และคนป่วยด้วย เมื่อถึงวันที่เดินทางนายก่าวหยี่ได้ทำพิธีอันเชิญเทพเจ้ากวนอูใส่ตระกร้าหวาย พร้อมกับจุดธูป 9 ดอก เดินทางโดยนั่งเรือไปยังเกาะสอง เมื่อไปถึงเกาะสอง นายก่าวหยีรู้สึกแปลกใจมาก เนื่องจากมีธงจีนมีชื่อพระประดับประดาไปทั้งเกาะ จากนั้นได้มีเถ้าแก่ใหญ่ใส่ชุดขาว ถือธูปที่จุดแล้ว 9 ดอก นั่งคุกเข่าโขกศรีษะอยู่ที่ท่าเรือ เพื่อรอรับเทพเจ้ากวนอู จากนั้นได้ทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้ากวนอูขึ้นประทับเก่ว พร้อมกับจัดขบวนแห่ไปทั่วตลาดเกาะสอง จนกระทั่งถึงโรงพิธี นายก่าวหยีจึงสอบถามว่าทราบได้อย่างไรว่าเทพเจ้ากวนอูจะมาที่นี่ เถ้าแก่จึงให้คำตอบว่าเทพเจ้ากวนอูได้แสดงอภินิหารโดยการเข้าฝันว่าท่านที่อยู่ที่ตะกั่วป่า และจะเดินทางมาเกาะสอง เพื่อที่จะทำการรักษาคนจีนที่ติดฝิ่น และปราบปรามคนจีนที่สูบฝิ่นด้วย จึงขอให้เถ้าแก่ต้อนรับด้วย ดังนั้นตนจึงได้ปฏิบัติตามความฝัน ในที่สุดนายก่าวหยี และเทพเจ้ากวนอูได้ประทับอยู่ที่เกาะสองเป็นระยะเวลา 3 ปี จากนั้นได้ลาชาวจีน และเถ้าแก่ เพื่อเดินทางกลับตะกั่วป่า ก่อนที่จะเดินทางกลับเถ้าแก่ได้มอบกิ้มซิ่นรูปพระ 2 องค์ คือ รูปเต้เอี๋ยเทพเจ้ากวนอูเป็นรูปที่ยืนแต่งตัวแบบนักรบ (บู่ซิ่น) และรูปโลเฉี่ย (ต่งตั๋นหวั่นโซ่ย) เพื่อเป็นที่สักการะ และจัดพิธีกินผักของชาวตะกั่วป่าต่อไป สำหรับพิธีกินผักของชาวตะกั่วป่านั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2386 – ปัจจุบัน
(2551) รวมระยะเวลาเป็น 165 ปีบทวิเคราะห์ตำนานเทศกาลกินเจ
1. ภาพสะท้อนวิถีชีวิตจากวรรณกรรม

ประวัติศาสตร์ ทราบถึงความสำคัญของเมือง เช่น เดิมตะกั่วป่า ชื่อว่า ตะโกลา ถือว่าเป็นเมืองโบราณที่สำคัญเมืองหนึ่ง ปรากฏตั้งแต่สมัยสุโขทัย – รัตนโกสินทร์ ถูกรุกรานจากพม่า สร้างความเสียหายให้กับเมืองเป็นอย่างมาก
อาชีพหลัก(ในสมัยนั้น) คือ การทำเหมืองแร่ดีบุก เกิดเป็นรายได้แผ่นดิน ชาวจีนจึงอพยพเข้ามาประกอบอาชีพ เพื่อทำเหมืองแร่ และได้นำวัฒนธรรมของตัวเองมาสืบทอดให้ชาวตะกั่วป่าในเวลาต่อมา
การเดินทาง ซึ่งยานพาหนะที่ใช้สมัยนั้น จะเป็นเรือ โดยความตอนหนึ่งในตำนานเทศกาลกินผัก (เจ) ของเมืองตะกั่วป่า ได้กล่าว่า นายก่าวหยี่ที่ดูแลศาลเจ้าเดินทางไปยังเกาะสอง ประเทศพม่า โดยใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ทั้งนี้เพื่อทำการโปรดสัตว์ รักษาชาวจีนที่ติดฝิ่น ตามที่เทพเจ้าได้มีความประสงค์จะไป เป็นต้น

2. ภาพสะท้อนความเชื่อในด้านต่างๆ
2.1 ความเชื่อในพระพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ
2.1.1 ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติให้อยู่ในศีลธรรม
งดเว้นการฆ่าสัตว์ บริโภคเนื้อสัตว์ ละอบายมุขแล้ว ยังเป็นการรักษาศีล ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ทั้งกาย วาจา และใจ ควบคู่กันไปด้วยในระหว่างเทศกาลกินผัก (เจ)
2.1.2 ความเชื่อในเรื่องกฏแห่งกรรมหากบุคคลใดมีความประพฤติดี ก็จักประทานพร อำนวยความสมบูรณ์พูนสุขให้ หากว่า
บุคคลใดมีความประพฤติในทางอกุศลกรรมวิถี(กรรมชั่ว) ก็จะลงโทษ นั่นคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั่นเอง
2.1.3 การผสมผสานลัทธิความเชื่อต่างๆ
นิกายมหายาน มีความเชื่อในพระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม
ลัทธิเต๋า มีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธ์ต่างๆ รวมถึงเทพเจ้าต่างๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์
ลัทธิขงจื้อ มีความเชื่อเรื่องของความกตัญญู จริยธรรม
เมื่อลัทธิความเชื่อต่างๆ หล่อรวมกันจึงกลายเป็นประเพณีกินผัก (เจ) ที่สืบทอดกันมายาวนาน

2.2 ความเชื่อในเทพเจ้า
เชื่อว่าเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์นี้ เป็นเทพเจ้าประจำดาวพระเคราะห์ ซึ่งแต่ละองค์ทำหน้าที่
ผลัดเปลี่ยนกันดูแลโลก ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน โดยที่พระเคราะห์เหล่านี้มีอิทธิพลอยู่เหนือธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุทอง ซึ่งธาตุทั้ง 4 เหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะหากปราศจากธาตุเหล่านี้ มนุษย์ , สัตว์ , พืช ล้วนแต่ต้องตาย ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงบูชาพระเคราะห์ดังกล่าว

2.3 ความเชื่อด้านฤกษ์ยาม
การทำพิธีกรรมทุกๆอย่างในเทศกาลกินผัก (เจ) จะมีการดูฤกษ์ยามที่เหมาะสม ซึ่งทางศาลเจ้าจะใช้วิธีการปัวะโป้ย (คือ การทอดวัตถุเสี่ยงทายเพื่อทราบรหัสคำตอบว่าใช่หรือไม่) มีลักษณะเป็นรากไม้ไผ่ผ่าซีก แผ่นไม้ที่จัดทำขึ้นพิเศษ มีลักษณะกลมรีเหมือนรูปไต ด้านหนึ่งโค้งนูนคล้ายหลังเต่า ส่วนอีกด้านหนึ่งขัดผิวเกลี้ยงเรียบ จำนวน ๒ ชิ้น และเหมือนกันทั้ง 2 ชิ้นซึ่งก่อนจะทำการโป้ย จะต้องท่องคาถา จากนั้นจึงโยนโป้ยดังกล่าว ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมามี 2 ลักษณะดังนี้
1) ลักษณะคว่ำ 1 อัน หงาย 1 อัน หมายถึงว่า สามารถเริ่มพิธีกรรมต่างๆ ได้
2) แต่ถ้าหากออกมาในลักษณะที่คว่ำทั้ง 2 อัน หรือหงายทั้ง 2 อัน จะหมายถึง ยังไม่ถึงเวลาที่จะเริ่มพิธีกรรมใดๆ ผู้ที่ทำพิธีจะต้องทำการท่องคาถาใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมกับโป้ยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกมาในลักษณะที่ 1) กล่าวคือ คว่ำ 1 อัน หงาย 1 อัน

2.4 ความเชื่อในเรื่องข้อห้ามต่างๆ
ข้อห้ามในการละเว้นการกินผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ประเภท อันได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว, กุ้ยฉ่าย, ใบยาสูบ จะเห็นได้ว่า ผักทั้ง 5 ชนิดพบอยู่ในข้อห้ามของการกินผัก (เจ) หากพิจารณาถึงนัยสำคัญของข้อห้ามการกินผักทั้ง 5 นี้ ล้วนแต่ให้โทษแก่ร่างกายทั้งสิ้น
กระเทียม ทำลายการทำงานของของหัวใจ กระทบต่อธาตุไฟ
หัวหอม ทำลายการทำงานของไต กระทบต่อธาตุน้ำ
หลักเกียว ทำลายการทำงานของม้าม กระทบต่อธาตุดิน
กุ้ยฉ่าย ทำลายการทำงานของตับ กระทบต่อธาตุไม้
ใบยาสูบ ทำลายการทำงานของปอด กระทบต่อธาตุโลหะ

3. ภูมิปัญญาที่ปรากฎอยู่ในตำนานเทศกาลกินผัก (เจ)
3.1 ภูมิปัญญาด้านอาหาร
มีการประกอบอาหารเจในรูปแบบต่างๆ มากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนเกษตรที่นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย และให้คุณค่าสารอาหารแทนเนื้อสัตว์ ที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลกินผัก (เจ) ของอ.ตะกั่วป่า นั่นก็คือ ขนมเต่า ทำด้วยแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาล ปั้นเป็นตัว หรือพิมพ์เป็นรูปเต่า ขนาดต่างๆ และย้อมด้วยสีแดง สาเหตุที่ปั้นเป็นรูปเต่านั้น กล่าวคือ เต่า ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาวจีน หมายถึง ความมีอายุยืนยาว ส่วนที่ทาขนมเต่าด้วยสีแดงนั้น สีแดงก็ถือเป็นสีที่อันเป็นมงคลของชาวจีน

3.2 ภูมิปัญญาด้านภาษา
มีคำศัพท์ภาษาจีนต่างๆ มากมายที่ปรากกฏอยู่ในพิธีกรรมต่างๆ ของเทศกาลกินผัก (เจ) เมืองตะกั่วป่า ซึ่งคำศัพท์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นที่เข้าใจความหมายตรงกันทุกคนของชาวเมืองดังนั้นจึงมีการผสมผสานภาษาในการใช้ระหว่างภาษาท้องถิ่น (ภาษาใต้) และภาษาจีน ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของเทศกาลกินผัก (เจ) ตัวอย่างเช่น กิ๋วอ๋อง-เทพเจ้าทั้ง 9,พวกฉ่ายอิ๋ว-คนที่กินผัก เป็นต้น

3.3 ภูมิปัญญาด้านอาชีพ
สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านอาชีพหลักของคนในท้องถิ่น ซึ่งก็คือ การขุดแร่ดีบุก ถือว่าเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่มีอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของชาวจีน และชาวต่างชาติอื่นๆ เข้ามาประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวจีนที่อพยพเข้ามาได้นำเอาวัฒนธรรมของจีนเข้ามาเผยแพร่ในอ.ตะกั่วป่า และสืบทอดประเพณีจนถึงทุกวันนี้

3.4 ภูมิปัญญาด้านเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่สำคัญที่ใช้ประกอบในประเพณีกินผัก (เจ) นั่นก็คือ กลอง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีอื่นๆ อีก เช่น ฉาบ ,ฆ้อง เป็นต้น ทั้งนี้เเครื่องดนตรีเหล่านี้จะใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญในการกินผัก (เจ) เช่น พิธีการตีกลอง และฆ้อง จะทำในวันที่ 6 และวันที่ 9 ของการกินผัก (เจ) ก่อนที่จะอันเชิญดวงวิญญาณของเทพเจ้าทั้ง 9 ไปจัดขบวนแห่ทั่วเมืองตะกั่วป่า เพื่อทำการโปรดสัตว์ อีกทั้งยังสร้างความตื่นเต้นเร้าใจในพิธีกินผัก (เจ)

4. การส่งทอด หรือสืบทอดวิถีชีวิตและความเชื่อมาถึงปัจจุบัน
สืบทอดด้านการทำพิธีกรรมต่างๆ เรียกว่า ฮวดกั๊ว คือ คนที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทั้งหมด เปรียบเสมือนสื่อกลางระหว่างเทพ กับมนุษย์ โดยผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้ จะต้องเป็นคนที่มีความสนใจ และต้องการที่จะเรียนจริงๆ บางคนเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนต่อโต เพื่อสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ และต้องผ่านการยอมรับจากผู้สอนถึงจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้
นอกจากนี้ในแต่ละปีจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อจัดการ และดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเทศกาลกินผัก (เจ) ซึ่งจะมีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ
1)คณะกรรมการศาลเจ้า หรือ ฝ่ายบริหาร (ที่ต้องมีประจำทุกศาลเจ้า) ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน
2)แต่ในช่วงเทศกาลกินผักนั้นจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประจำปีอีก 1 ชุด จำนวน 5 คน ซึ่งจะเรียกว่า เถ้าแกลอจู้ 1 คน และผู้ช่วยลอจู้อีก 4 คน โดยจะทำการคัดเลือกจากรายชื่อของคนที่กินผัก (เจ)

5. ผลจากการปฏิบัติตามพิธีกรรมต่างๆ ในมุมมองด้านต่างๆ
5.1 ด้านสังคม
ผู้คนในเมือง ต่างมีความสามัคคีกัน เช่น พบว่าช่วงนั้นบรรยากาศของเมืองจะเต็มไปด้วยสีขาวของเสื้อผ้า สลับกับสีแดงของประทัด ร่วมกันถือศีล กินผัก พร้อมกับทำบุญสนับสนุนการจัดงาน รวมไปถึงการพร้อมใจที่จะช่วยกันทำอาหารเจ ณ โรงเจ ตลอด 9 วันของการกินผัก (เจ) ผู้ที่ลงชื่อกินผัก (เจ) กับศาลเจ้านั้นๆ ก็สามารถถือปิ่นโต เพื่อเอากับข้าวไปรับประทานที่บ้าน หรืออาจจะทานที่โรงเจก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก ส่งผลให้ผู้คนในเมืองมีความสัมพันธ์ที่ดีรู้จักกันมากขึ้น

5.2 ด้านพฤติกรรม
ปัญหาเรื่องไม่กินผักในเด็ก จึงไม่ค่อยพบ เนื่องจากเด็กได้มีการปลูกฝังให้กินผักตั้งแต่เด็กๆ โดยการปลูกฝังนี้สอดแทรกมากับประเพณีกินผัก (เจ) ที่ชาวเมืองสืบทอดต่อๆ กันมา

5.3 ด้านการท่องเที่ยว
ประเพณีกินผักนี้สร้างความสนใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมากมาย ยินดีที่จะเดินทางไปร่วมพืธีกรรมเหล่านี้ เพื่อพิสูจนให้เห็นกับตา ส่งผลในทางอ้อม คือ การได้เผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

6. แนวคิดสำคัญที่ได้จากการศึกษาภูมิปัญญาในวรรณกรรม
1. เนื้อหาสอดแทรกเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำความดี ละเว้นความชั่ว จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง , การไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ไม่เอาเลือดเนื้อของสัตว์มาเป็นเลือดเนื้อของเรา เมืองตะกั่วป่าจึงมีแต่ความสงบสุขอยู่กันอย่างสันติ
2. สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองตะกั่วป่าในสมัยก่อน (ช่วงเกิดเทศกาลกินผัก (เจ) ครั้งแรก) ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ใช้โดยเรือ, อาชีพในสมัยนั้น คือ การทำเหมืองแร่
3. สอดแทรกความเชื่อในเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีการผสมผสานของวัฒนธรรม คือ เป็นการรับเอาวัฒนธรรมของชาวจีน มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของชาวไทยในท้องถิ่นนั้น
4. ส่งเสริมสังคมให้เกิดความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ได้สอดแทรกมากับพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลกินผัก (เจ) เพราะหากชาวตะกั่วป่าไม่ช่วยเหลือกัน ประเพณีอันดีงามนี้คงไม่ได้สืบทอดมาให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

รูปสวย น่ารัก glitter emoticon www.yenta4.com


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Otosang แปลข้อมูลจากจีนเป็นไทย
Tomodaji ข้อมูลเรื่องม้าทรง

ขอบคุณเว็บไซค์
http:// www.pattaniamulet.com/forums/showthread.php?t=224.
http://www.takola.com//Tradition/chines47/chines47.htm.
http://www.guanim.com/html/PrapeneChina/ChiJ9.html.
http://www.agalico.com/board/archive/index.php/t-312.html.

2 ความคิดเห็น:

shibirut กล่าวว่า...

[Comment Testing gaab]
links to google a' ^^


เทสสสสสสสสสสก้าบบบบ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เทศกาลใกล้เข้ามาแร้วววว
ปีนี้ไม่แน่ใจว่าจะได้ไปถ่ายรูปอีกรึปล่าว
ไว้จะบอกอีกทีละกันนะ
***เจ้าของบล๊อคจิงๆหรอเนี่ย น่ารักจังเรยยยค่า***