วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

ขนมเต่าสีแดง (อ่างกู้)


1. ความหมาย และความสำคัญของขนมเต่า
ขนมเต่า หรือ อ่างกู้ มาจากภาษาจีน อ่าง หมายถึง แดง ส่วน กู้ หมายถึง เต่า แปลว่า เต่าสีแดง เป็นขนมพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนทางภาคใต้ ซึ่งไม่มีเนื้อเต่าเจือปนแม้แต่น้อย แต่ขนมเต่า หรืออ่างกู้นี้จะทำจากแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาลทราย ไม่มีไส้มีรสหวานจัด แล้วนำไปปั้นเป็นรูปเต่าขนาดต่างๆ จากนั้นจึงทาด้วยสีแดง ซึ่งมักพบเห็นในประเพณีที่เป็นมงคลต่างๆ ของชาวจีน โดยเฉพาะประเพณีผ้อต่อ (หรือวันสารทจีน เป็นเทศกาลงานบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ) ถือเป็นประเพณีหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ภูเก็ต ที่ได้นำขนมเต่ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบวงสรวง จนกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ของงานนี้ เพราะชาวจีนเหล่านี้มีความเชื่อว่า เต่า เป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ดังนั้นการทำพิธีต่างๆ จึงนิยมนำเต่ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีด้วย ซึ่งมีความนัยว่าจะทำให้ตนเอง และสมาชิกในครอบครัวจะมีอายุยืนเหมือนเต่านั่นเอง

2. ความเป็นมาของขนมเต่า (อ่างกู้)
สำหรับขนมเต่า หรือ อ่างกู้ มีประวัติความเป็นมาจากความเชื่อหนึ่งของชาวจีน โดยเรื่องย่อมีเนื้อความอยู่ว่า เมื่อครั้งที่พระภิกษุชาวจีนมีชื่อว่า อีจิง ได้ออกเดินทางจากประเทศจีนเพื่อไปศึกษาพระพุทธศาสนา ณ แคว้นลังกา ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น เพื่อที่จะกลับมาเผยแพร่ให้กับชาวพุทธในแผ่นดินที่ตนเกิดต่อไป
ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ พระภิกษุรูปนี้ได้แวะพักที่แหลมสุวรรณภูมิ หรือภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อรอคลื่นลมที่เหมาะสมในการเดินเรือไปยังแคว้นลังกา อีกทั้งยังได้ใช้เวลาทำการศึกษาภาษาสันสกฤต และวัฒนธรรมต่างๆ ของท้องถิ่นชาวสุวรรณภูมิอีกด้วย
เมื่อเวลาผ่านไปคลื่นลมได้สงบดีแล้ว เหมาะแก่การเดินทางต่อ พระภิกษุรูปนั้น พร้อมกับคณะจึงได้ออกเดินทางโดยเรือ เพื่อที่จะไปยังจุดหมาย ทันใดนั้นก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เกิดพายุโหมพัดรุนแรงจนทำให้เรือแตก และได้ลอยคออยู่กลางทะเล แต่ด้วยความที่มีใจหมายที่จะไปศึกษาพระธรรม ที่แคว้นลังกาให้ได้ ท่านอีจิงจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากตนมีบุญพอที่จะไปเล่าเรียนพระธรรม เพื่อที่จะสืบสานคำสอนของพระพุทธองค์แล้วไซร้ ก็ขอให้รอดพ้นจากความตายในครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้นได้มีเต่าตัวใหญ่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วช้อนเอาร่างท่านอีจิงว่ายกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย
หลังจากที่รอดชีวิตมาได้ ท่านอีจิงก็ได้มาถึงที่หมาย ศึกษาพระพุทธศาสนา ณ แคว้นลังกา จนสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ และด้วยความสำนึกในบุญคุณของเต่าใหญ่ที่ได้ช่วยชีวิตท่าน เมื่อครั้นเดินทางไปศึกษาพระธรรม ท่านอีจิงจึงได้ริเริ่มให้มีการทำขนมเต่าสีแดง หรืออ่างกู้ เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีต่างๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีน ได้แก่ ประเพณีพ้อต่อ, ประเพณีกินผัก (เจ) เป็นต้น

วิธีการทำขนมเต่า (อ้างกู้)



ขอบคุณภาพถ่ายจาก http://www.sabaiphuket.com/photo_gallary/g_show.php?gid=88.

ส่วนผสม
-แป้งข้าวสาลี
-น้ำตาลทราย
วิธีการทำขนมเต่า
1.นำแป้งข้าวสาลี มาคลุกกับน้ำตาลทราย
2.นวดจนแป้ง และน้ำตาลทรายรวมเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะเหนียวข้น
3.จากนั้นนำไปวางทาบบนกระทะมีลักษณะเป็นใบบัว อัดกดลงไป
4.นำสีแดงไปทาบนขนม แต่ลวดลายต่างๆ และจำรึกคำมงคลต่างๆ

3. ความเชื่อ และคุณค่าต่างๆ ที่ปรากฏในขนมเต่า
3.1 เรื่องของความกตัญญู
จากการศึกษาเรื่องขนมเต่านั้น พบว่าเป็นการแสดงความกตัญญ และระลึกถึงพระคุณของเต่าที่ได้ช่วยชีวิตพระภิกษุรูปหนึ่งให้รอดพ้นจากความตาย ขณะเดินทางไปศึกษาพระธรรม ณ แคว้นศรีลังกา จากนั้นจึงริเริ่มการทำขนมเต่าสีแดง เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีผ้อต่อ อีกทั้งยังนำมาผนวกกับประเพณีมงคลอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังพบเรื่องความกตัญญูที่เกี่ยวกับขนมเต่า นั่นก็คือ การที่คนได้ขอขนมเต่าจากองค์พ้อต่อ ในประเพณีงานพ้อต่อ (วันสารทจีนของคนภูเก็ต) เพื่อไปรับประทานให้ความเป็นสิริมงคล ในปีถัดไปเมื่อเทศกาลพ้อต่อเวียนกลับมาอีกครั้ง ผู้ที่เคยขอในปีที่แล้ว จะต้องนำขนมเต่าที่มีขนาดเท่ากัน หรือใหญ่กว่าที่ได้จากที่เคยได้ในปีแล้ว มาถวายที่ศาลเจ้าพ้อต่อด้วย นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณ ที่มีนัยสำคัญว่า เมื่อได้กินขนมเต่าจากคนที่ได้นำมาถวายให้กับศาลเจ้าแล้ว ในปีต่อไปผู้อื่นที่ยังไม่ได้กิน และมีความประสงค์ที่จะกิน ก็จะได้มีขนมเต่ามาให้กินอยู่ทุกๆ ปี เป็นอย่างนี้อยู่ตลอด ไม่มีวันที่ขนมเต่านี้จางหายไปจากประเพณีดังกล่าวอีกต่อไป

3.2. เรื่องโชคลาง
สำหรับความเชื่อเรื่องโชคลาง ที่ปรากฏในขนมเต่านั้น มีความเชื่อว่า หากใครที่ได้กินขนมเต่า (อ่างกู้)จะประสบแต่เรื่องดีๆ ที่เป็นมงคล

3.3 ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
หากได้นำขนมเต่าที่ตัวใหญ่กลับไปบ้าน กินคนเดียวคงจะไม่หมดแน่ ก็ให้แบ่งความเป็นมงคลเหล่านี้เผื่อแผ่แก่คนในครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหายด้วย การกระทำดังกล่าวหากพิจารณาถึงนัยสำคัญ นั่นคือ เป็นสิ่งที่ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดี ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง

3.4 ความสามัคคี
ขนมเต่าที่ปรากฏในงานประเพณีต่าง ๆแสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนในเมือง ที่ร่วมกันนำถวายแก่ศาลเจ้า นำไปบูชา เซ่นไหว้เจ้า อยู่ให้เห็นตลอดตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน เป็นความสามัคคีที่ร่วมใจกันสืบทอดมาให้เห็นจนทุกวันนี้

3.5 ความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ก่อนจะนำไปรับประทานได้นั้นจะต้องมีการขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เทพเจ้านั่นเอง โดยใช้ปัวะโป้ยเครื่องเสี่ยงทายเป็นตัวบอกคำตอบว่าเทพเจ้าจะให้ผู้นั้นนำกลับไปรับประทานหรือไม่ หากอนุญาติจึงสามารถจะนำกลับไปได้ แต่หากไม่ได้คนนั้นก็จะต้องยอมรับ และอาจจะขอใหม่ได้ในประเพณีอื่นๆ ที่มีขนมเต่า หรืออาจจะขอในปีถัดไป ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพราะทุกคนที่เข้าไปทำการเสี่ยงทายขออนุญาติล้วนแต่มีพื้นฐานความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันทุกคน

3.6 นำมาประกอบอาชีพหลัก
การทำขนมเต่า ไม่ใช่ทำเพียงแค่เมื่อมีเทศกาล หรือประเพณีสำคัญๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถทำขนมเต่าขายเป็นอาชีพหลัก เพื่อนำเงินมาเลี้ยงชีพได้อีกด้วย เพียงแต่ว่าไม่ได้ปั้นออกมาเป็นรูปเต่าเท่านั้นเอง แต่จะตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนรสชาดมีรสชาดเหมือนกับขนมเต่าทุกประการ คือ รสหวานจัด โดยจะมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมโก๋อ่อน ชาวท้องถิ่นจะนิยมนำมารับประทานกับกาแฟในยามบ่าย

4. ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องของขนมเต่า (อ่างกู้)

4.1 ภูมิปัญญาด้านประเพณี
- ประเพณีผ้อต่อ (วันสารทจีน)
เมื่อไหร่ที่มีประเพณีพ้อต่อขึ้น ก็จะเห็นขนมเต่า เรียงรายปรากฏอยู่ในงานด้วย ถึงแม้ว่าขนมเต่าจะปรากฏให้เห็นในเครื่องเซ่นไหว้ประเพณีมงคลๆ ต่างๆของชาวจีนแล้ว แต่ขนมเต่าในประเพณีพ้อต่อจะเป็นขนมเต่าตัวใหญ่เท่านั้น ขนมเต่าตัวใหญ่ จะมีชื่อเรียกว่า ตั่วกู้ ในขณะที่ขนมเต่าตัวเล็กนั้น เราเรียกว่า อ่างกู้ ส่วนงานประเพณีมงคลอื่นๆ เช่น ประเพณีกินเจ , ประเพณีการเกิด เป็นต้น แต่ขนมเต่าจะมีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สลับกันไป

- ประเพณีกินผัก (เจ)
ชาวไทยเชื้อสายจีนทางภาคใต้ไม่ว่าจะเป็น พังงา ภูเก็ต ตรัง ระนอง เป็นต้น ล้วนแต่จะมีประเพณีกินผัก (เจ) ที่ยิ่งใหญ่ และน่าสนใจกว่าภูมิภาคอื่นๆ ด้วยพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ที่ปรากฏในประเพณีกินผัก (เจ) นั่นเอง นอกจากอาหารเจที่มีให้เลือกมากมายในประเพณีกินผักแล้ว ขนมเต่าก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ปรากฏให้เห็นในประเพณีกินผัก (เจ) ด้วยอีกเช่นกัน เพราะขนมเต่าเป็นขนมที่ทำจากแป้ง และน้ำตาล โดยไม่มีเนื้อเต่าเจือป่นมาแต่อย่างใด ขนมเต่าจึงสามารถนำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีกินผัก (เจ) ได้ ส่วนขนาดของขนมเต่าจะมีหลายขนาดด้วยกัน ไม่ว่าจะเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่

- ประเพณีตรุษจีน
ถือเป็นอีกประเพณีที่บูชาเทวดา หรือเทพเจ้าสูงสุดบนสวรรค์ นิยมนำขนมเต่ามาเซ่นไหว้เช่นกันนำขนมนี้มาไหว้เพื่อให้อายุมั่นขวัญยืน

4.2 ภูมิปัญญาเรื่องการเสี่ยงทาย
การศึกษาเรื่องขนมเต่า พบว่า ขนมเต่า มีความสัมพันธ์กับการเสี่ยงทาย โดยไม่สามารถแยกจากกันได้ นั่นก็คือ การทำพบเห็นขนมเต่า ปรากฏในงานเทศกาล ประเพณีต่างๆ นั้น หากใครมีความประสงค์ที่จะนำกลับไปกินที่บ้าน เพื่อความเป็นมงคลแล้ว ก่อนที่จะนำเต่ากลับบ้านจะต้องขออนุญาติแก่องค์พ้อต่อในประเพณีผ้อต่อก่อน หรือแม้กระทั่งในประเพณีกินผัก (เจ) ก็จะต้องทำการขออนุญาติจากเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ก่อน สำหรับเครื่องเสี่ยงทายที่นำมาใช้สำหรับการขออนุญาตินำขนมเต่าไปกินได้นั่น เรียกว่า ปัวะโป้ย
คือ การทอดวัตถุเสี่ยงทายเพื่อทราบรหัสคำตอบว่าใช่หรือไม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นรากไม้ไผ่ผ่าซีก แผ่นไม้ที่จัดทำขึ้นพิเศษ มีลักษณะกลมรีเหมือนรูปไต ด้านหนึ่งโค้งนูนคล้ายหลังเต่า ส่วนอีกด้านหนึ่งขัดผิวเกลี้ยงเรียบ จำนวน ๒ ชิ้น และเหมือนกันทั้ง 2 ชิ้น
จากนั้นจะนำเอาวัตถุเสี่ยงทายทั้งสองชิ้นยกขึ้นมาประกบกัน ตั้งจิตอธิษฐาน แล้วบรรจงปล่อยให้หล่นลงสู่พื้น ณ บริเวณเบื้องหน้าแท่นบูชา ซึ่งการเสี่ยงทายนี้สามารถกระทำได้ เพียง 3 ครั้งเท่านั้น สำหรับผลลัพธ์ที่จะปรากฏ คือ การตอบรับ – การปฏิเสธ โดยมีความหมายดังนี้
แบบที่ 1 หากโป๊ยแล้วออก หงาย – คว่ำ หมายถึง แสดงว่าท่านให้
แบบที่ 2 หากโป๊ยออก หงาย – หงาย หรือ คว่ำ – คว่ำ หมายถึง ท่านยังไม่ให้
อย่างไรก็ตาม หากการโป๊ยขอใหม่ได้อีก 2 ครั้ง หากครบสามครั้งแล้วยังไม่ได้ ก็ให้หยุดทำการขอนั้นเสีย

4.3 ภูมิปัญญาในเรื่องของสัญลักษณ์
สำหรับขนมเต่านั้น มีสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ 2 ประการ อันได้แก่
- สีแดง หมายถึง เป็นสีที่เป็นมงคลของชาวจีน
- ลักษณะเป็นรูปเต่า หมายถึง เต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว
เพราะฉะนั้นหากใครได้ไหว้เต่าจึงเป็นการต่ออายุให้ตนเอง และถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ด้วย

4.4 ภูมิปัญญาด้านภาษา
การศึกษาเรื่องขนมเต่าพบว่า เมื่อผ่านขั้นตอนกระบวนการทำขนมเต่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นผู้ทำจะต้องมีการเขียนคำที่เป็นมงคลต่างๆ สลักไว้หลังเต่า ได้แก่
ร่ำรวย - กินแล้วจะส่งผลให้ร่ำรวย
โชคดี - กินแล้วจะส่งผลให้โชคดี
สุขขี - กินแล้วจะส่งผลให้มีแต่ความสุขให้ชีวิต

4.5 ภูมิปัญญาด้านศิลปะ
การทำขนมเต่า มีเรื่องภูมิปัญญาด้านศิลปะมาประยุกต์ใช้ในการทำขนมเต่าด้วย นั่นก็คือ ตัวเต่าจะทาด้วยสีแดง และบนหลังเต่าจะมีการวาดลวดลายต่างๆ อันได้แก่ ดอกไม้ ใบไม้ สีต่างๆ ตัดกับลายเส้น ทั้งนี้เพื่อให้เต่ามีลักษณะสีสันสวยงามมากขึ้น

5. การนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน
ขนมเต่าในปัจจุบันนอกจากจะพบเห็นในช่วงเทศกาลต่างๆ และเนื่องจากว่าบางคนได้ขนมเต่าตัวใหญ่กลับไปทานที่บ้านนอกจากจะแจกจ่ายไปแก่เพื่อนบ้าน ญาติสนิทแล้ว ขนมเต่าที่เหลือก็ยังเยอะอยู่ เพราะเนื่องจากว่าเป็นขนมที่มีรสหวานจัด จึงอาจทำให้ผู้ทานทานได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น และหากทิ้งไว้หลายวันก็อาจจะทำให้ขนมเสียได้ เพราะสภาพอากาศทางภาคใต้จะมีลักษณะร้อนชื้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดราขึ้นขนมได้เสียง่ายๆ ดังนั้นชาวบ้านบางบ้านจึงนำขนมเต่านี้นำไปชุบไข่แล้วนำไปทอด เหมือนกับการทอดขนมเข่ง ถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ขนมเต่านี้มีรสชาดที่อร่อยอีกแบบหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดีขนมเต่าดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นทางภาคอื่นๆ ของประเทศไทยอีกด้วย หากเพียงแต่ว่าไม่ได้ปั้นเป็นรูปเต่าเหมือนตอนนำไปเป็นเครื่องบวงสรวงในประเพณีทางภาคใต้ แต่ขนมเต่าที่วางขายตามร้านทำขนมทั่วไปหาซื้อได้ทุกวันจะมีลักษณะเป็นท่อนยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อแป้งสีขาวขุ่น เหนียว นุ่ม รสชาดหวานจัด ทั้งนี้ขนมเต่าจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมโก๋อ่อนนั่นเอง นิยมนำมารับประทานกับกาแฟยามบ่าย นอกจากนี้ขนมโก๋อ่อนยังมีการพัฒนาเป็นรสชาดใหม่ๆ ออกมาให้รับประทานกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ไปผสมกับแป้งเพื่อให้มีความหอมยิ่งขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังมีการพัฒนาในลักษณะของขนมโก๋อ่อนสอดไส้รสชาดต่างๆ เช่น ขนมโก๋อ่อนสอดไส้งาดำ, ขนมโก๋อ่อนสอดไส้ชาเขียว, ขนมโก๋อ่อนสอดไส้ถั่วเขียว, ขนมโก๋อ่อนสอดไส้ถั่วดำ เป็นต้น

6. แนวทางการสืบทอดการทำขนมเต่า (อ้างกู้)
ขนมเต่า (อ่างกู้) ถึงแม้จะเป็นขนมที่มีความคิด ความเชื่อมาจากชาวจีนแล้ว ยังสามารถถ่ายถอดมาสู่สังคมไทย จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และกลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์สำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ทางภาคใต้ ควรค่าแก่การอนุรักษื และสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป โดยมีแนวทางการอนุรักษ์ดังนี้
1. ในช่วงที่มีประเพณีสำคัญๆ ต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น กินผัก (เจ) ,ผ้อต่อ (วันสารทจีน), วันตรุษจีน เป็นต้น มักจะมีการไหว้ขนมเต่าร่วมในประเพณีดังกล่าวด้วย ดังนั้นในงานประเพณีเหล่านี้ ร้านขนมต่างๆ ที่รับทำขนมเต่าก็มีการเปิดร้านให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวงานประเพณีดังกล่าวได้เยี่ยมชมร้าน พร้อมกับรับชมการสาธิตวิธีการทำขนมเต่า อีกทั้งตั้งซุ้มจัดสอนให้แก่ผู้ที่สนใจอยากทำ เพื่อให้ขนมเต่านี้อยู่คู่กับประเพณีสำคัญต่อไปในอนาคต
2. นอกจากขนมเต่าที่ปั้นเป็นรูปเต่าแล้ว เพื่อให้ขนมอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของชาวไทยเชื้อสายจีนทางภาคใต้แล้ว ก็มีการทำขนมเต่าในรูปแบบที่ไม่ต้องปั้นเป็นรูปเต่า เรียกอีกชื่อว่า ขนมโก๋อ่อน ซึ่งขั้นตอนการทำจะง่ายกว่าขนมเต่า ตรงที่ไม่ต้องมาปั้นเป็นตัวเต่า เพียงแค่ตัดเป็นชิ้นๆ เท่านั้น ง่ายแก่การหาซื้อมารับประทาน และสามารถขายได้ทุกวัน ส่งเสริมให้กลายเป็นสินค้า OTOP ต่อไป
3. มีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิชาเรียนคหกรรมตามสถาบันการศึกษาในท้อง
ถิ่นต่างๆ หรือจัดทัศนศึกษาไปยังแหล่งเรียนรู้ กล่าวคือ พาไปร้านที่ทำขนมโก๋อ่อน เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากการไปทัศนศึกษา และได้ปฏิบัติจริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังนักเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาในท้องถิ่นนั้นๆ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดภูมิปัญญาดังกล่าวในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณอ้อม
www.kathutin.com/main/index.php?option=com_content&task=view&id=96&Itemid=5.
http://lip.kru.ac.th/bsru/48/rLocal04/stories.php?story=06/02/11/8698652.

ไม่มีความคิดเห็น: